กินอย่างไทย-กินเพื่อสุขภาพ

        
Views: 2664
Votes: 0
Comments: 0
Posted: 16 Feb, 2010
by:
Updated: 16 Feb, 2010
by:

          การกินอย่างไทย จะได้รับคุณค่าทางอาหารครบถ้วน ในปริมาณและสัดส่วนที่พอเหมาะ ท่านจะได้พลังงานประจำวันพอดี ๆ โดยมีสัดส่วนจาก คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน ที่พอเหมาะ สำหรับผู้ใหญ่ ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักร่างกาย เพื่อให้ดัชนีมวลกายอยูในพิสัยเหมาะสม (Proper body weight and body mass index) ปริมาณพลังงานที่ได้จะพอเพียงกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยไม่เหลือสะสมเป็นไขมันพอกพูนในร่างกายส่วนต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่โรคภัยนานา อาทิ โรคอ้วน ไขมัน ในหลอดเลือดสูง โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ Stroke เบาหวาน และมะเร็ง

คุณค่าอาหารไทย

             การกินแบบไทยนั้น ท่านจะได้โปรตีนที่มีคุณภาพดี จากเนื้อสัตว์หลากหลายชนิด เช่น ปลา ไข่ ไก่ หมู เนื้อ และสัตว์น้ำจืด หรืออาหารทะเลอื่น ๆ รวมทั้ง โปรตีนจากพืช ผัก ทั้งประเภทเมล็ด เช่น ข้าว และถั่วชนิดต่าง ๆ ได้ไขมันที่เหมาะสม ทั้งไขมันจากพืชและสัตว์ รวมทั้งสัตว์น้ำ เช่น ปลาทะเล ทั้งนี้เนื่องจากอาหารไทยส่วนใหญ่ จะเป็นอาหารประเภทต้ม แกง นึ่ง ย่าง และเครื่องจิ้ม ซึ่งกรรมวิธีการปรุง จะใช้ ไขมันในปริมาณไม่มากนัก ใช้เนื้อสัตว์ประเภทต่าง ๆ ในปริมาณพอควร แต่จะเน้นไปที่ผักนานาชนิด ซึ่งอาจเตรียมเพื่อบริโภคผักดิบ กับเครื่องจิ้ม หรือแกงเผ็ด (แน่นอน ต้องผ่านการล้างอย่างสะอาด และอาจจะพิถีพิถันถึงกับแกะสลักผักจิ้ม ผักเคียง เหล่านี้เป็นดอกไม้ ใบไม้ หรือรูปลักษณ์ต่าง ๆ) หรืออาจต้มหรือนึ่งมา เพื่อประกอบเครื่องจิ้มเหล่านั้น และก็อาจปรุงมาในแกงจืด แกงเผ็ด และผัดกับเนื้อสัตว์ ไข่ หรือผัดเฉย ๆ ก็ได้ ความที่ประเทศไทยอยู่ในโซนร้อนและเขตมรสุม จึงมีพืช ผัก สารพัดชนิดให้เลือกกินได้ตลอดทั้งปี และยังหลากหลายแปรเปลี่ยน ไปตามภูมิภาคด้วย โดยเฉพาะผักพื้นบ้านที่เป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ผ่านกระบวนการทดสอบ และประกอบเป็นอาหาร ด้วยภูมิปัญญาไทยมาหลายศตวรรษ

อาหารไทย-อาหารสุขภาพ

ไทยเป็นชาติที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่สืบสานมาร่วมพันปี หนึ่งในวัฒนธรรม ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์สืบเนื่องมาหลายชั่วอายุคนนี้ คือวัฒนธรรมในการกิน และถึงแม้จะเป็น ชนชาติเก่าแก่ดึกดำบรรพ์ ที่ตั้งอยู่ระหว่างประเทศมหาอำนาจทางวัฒนธรรมในอดีต ของเอเชีย 2 ประเทศ คือ จีน และอินเดีย ทำให้ไทย ได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรม จาก 2 ชาติใหญ่นั้นอยู่บ้าง แต่ความมีเอกลักษณ์ของไทยในเรื่องการกินแล้ว ยังมั่นคงยั่งยืนมาถึงปัจจุบัน จนเป็นที่เลื่องลือไปทั่วโลก และเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ดึงดูด ให้คนต่างแดนจากทั่วทุกมุมโลก อยากเข้ามาสัมผัสลิ้มลองในรสชาติ ที่มีสีสันฉูดฉาด น่าตื่นเต้น ขณะเดียวกัน ก็มีความกลมกลืนของรสชาติและรสสัมผัสที่ชวนหลงใหล ยิ่งไปกว่านั้นความหลากหลายของอาหารและเครื่องปรุงที่มีอยู่นับร้อยนับพันชนิดที่หาได้ และค้นคว้าสืบทอดกันมาด้วยภูมิปัญญาไทย ผลิตได้จากพื้นดินและพื้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์ของไทย ได้รับการยกย่องยืนยัน ด้วยเหตุผล และหลักฐานทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แผนปัจจุบันว่า เป็นแบบแผนการกิน ที่เหมาะสม และมีประโยชน์ต่อสุขภาพเป็นอย่างยิ่ง

ลักษณะการกินอาหารแบบไทยแท้

               การกินแบบไทยแท้นั้น คือการกินเป็นสำรับ นั่นคือการกินร่วมกันเป็นวง เป็นกลุ่ม เช่นในครอบครัว หรือในโอกาส พิเศษ งานเลี้ยง หรืองานเทศกาลต่าง ๆ โดยจะมีข้าวเป็นหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวสวย ตักแจกจ่ายกันไปทั่วทุกคน ในวงกินข้าวนั้น (แน่ละ ทุกคนจะมีจานข้าว เป็น ของตนเอง พร้อมช้อนและส้อม) แต่ในท้องถิ่นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียง เหนือ ข้าวที่กินเป็นหลักมักจะเป็นข้าวเหนียวนึ่ง ซึ่งอาจนึ่งและเก็บไว้ในกระติบข้าวใหญ่ (ภาคอีสาน) หรือก่องข้าวหลวง (ภาคเหนือ) เพื่อเก็บความร้อนระอุและนุ่ม หอมของข้าวไว้ได้นาน ๆ แต่ปัจจุบัน อาจพบว่าตามร้านอาหารจะเสิร์ฟ ในกระติบข้าวหรือก่องข้าวขนาดเล็กประจำตัวคนในวงข้าวไปเลย

วัฒนธรรมการกินข้าวร่วมวงของไทย

               ในระหว่างกินข้าวร่วมวงกัน แม่บ้านก็จะช่วยปรนนิบัติ โดยคอยตักกับข้าวที่เอร็ดอร่อยน่ากินให้เด็กและคนชรา หรือผู้สูงอายุกว่าในวง พ่อบ้านไทยที่มีใจเอื้อเฟื้อก็จะคอยตักกับข้าวให้แม่บ้าน และสมาชิกอื่นในวงบ้าง และก็พูดคุยสนทนากันไปถึงเรื่องราวเหตุการณ์น่าสนใจในชีวิตประจำวัน รวมทั้งถือโอกาสอบรมสั่งสอนลูกหลานไปด้วย ผู้สูงอายุในวง ซึ่งอาจจะเป็นปู่ย่า ตายาย ลุงป้า น้าอา ก็จะเล่าประสบการณ์อันเป็นการถ่ายทอดความรู้ ความคิด และการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่ผู้ที่อ่อนเยาว์กว่า เด็กที่โตขึ้นมาหน่อยที่พอจะแบ่งเบาความรับผิดชอบได้บ้าง ก็จะได้รับหน้าที่ให้คอยช่วยเติมข้าว เติมกับข้าว และน้ำดื่ม แก่ผู้อาวุโสกว่า ทั้งนี้ ในวงกับข้าวแบบไทยแท้นั้น จะไม่มีการดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮลล์ในวงข้าว แต่ปัจจุบัน ท่านอาจพบเห็นบ้างว่ามีการดื่มเหล้าวิสกี้ หรือเบียร์ หรือแม้แต่เหล้าไวน์กันบ้างในกลุ่มคนไทย แต่โดยมากจะเป็นการดื่มพร้อมของขบเคี้ยว หรืออาหารบางประเภทที่เรียกว่ากับแกล้ม ก่อนจะเริ่มลงมือกินข้าวจริงๆ

องค์ประกอบของสำรับอาหารไทย

                  ใน "สำรับ" นั้นจะประกอบด้วยอาหารหลาย ๆ ชนิด ที่ปรุงมาโดยกรรมวิธีต่าง ๆ กัน โดยทั่วไปอย่างน้อยจะมีชนิดที่เป็นน้ำหนึ่งอย่าง โดยอาจจะเป็นต้มจืด ต้มเค็ม ต้มยำ แกงเผ็ด ชนิดไม่ใส่กะทิที่เรียกว่า แกงป่า หรือแกงกะทิต่าง ๆ ต้มหรือแกงเหล่านี้ จะมีส่วนประกอบทั้งเนื้อสัตว์และผักอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ตลอดจนเครื่องปรุงที่เพิ่ม รสชาติ สีสัน กลิ่นหอม และเป็นทั้งสมุนไพรที่ช่วยในการย่อยอาหาร ช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยขับลม หรือช่วยการระบายท้องไปด้วย นอกจาก อาหารที่มีลักษณะเป็นน้ำ เช่น พวกต้ม - แกงแล้ว อีกหนึ่งหรือสองอย่างเป็นอย่างน้อยก็จะเป็นอาหารประเภทนึ่ง ย่าง และพวกเครื่องจิ้ม เช่น น้ำพริกต่าง ๆ อาทิ น้ำพริกกะปิ หลนเต้าเจี้ยว น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม น้ำพริกกุ้งเสียบ น้ำพริกปลาย่าง และแจ่วของทางอีสาน เป็นต้น น้ำพริกเหล่านี้ส่วนใหญ่มีรสค่อนข้างจัด คือ เผ็ด เค็ม และเปรี้ยว หรือเจือหวานบ้าง จึงรับประทานโดยตรงเป็นจำนวนไม่มาก (ทำให้ไม่ต้องเกรงว่าผู้บริโภคจะได้รับเกลือหรือน้ำตาลมากเกินไป อันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ) แต่จะรับประทานกับเครื่องจิ้ม เครื่องเคียงในปริมาณมาก ได้แก่ ผักสด และผักนึ่ง หรือผักต้มนานาชนิด แล้วแนมหรือเคียงข้างด้วยเนื้อสัตว์ เช่น ปลาย่าง ปลานึ่ง ปลาเผา กุ้งเผา หรืออาจจะเป็นปลาเล็กปลาน้อยทอด ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพดีแล้ว ยังเพิ่มแคลเซียมได้ดีอีกด้วย

                ส่วนอาหารอีกหนึ่งหรือสองชนิด ก็อาจจะเป็นผัดผัก หรือผัดเนื้อสัตว์ หรืออาหารที่ปรุงมาในลักษณะค่อนข้างแห้ง เช่น จำพวกพล่า ยำต่าง ๆ ลาบ ซึ่งก็เช่นเดียวกันจะเป็นการคลุกเคล้าเครื่องปรุงที่เป็นพืชผัก และสมุนไพรต่าง ๆ กับเนื้อสัตว์ที่สุกแล้ว โดยการต้ม หรือนึ่ง หรือย่าง หรือคั่วแห้ง จำนวนไม่มากนัก แต่ปรุงรสให้กลมกล่อมตามความชอบของผู้บริโภค จึงอาจจะมีรสเผ็ด เค็ม เปรี้ยวหวานอ่อน ๆ ไปจนถึงรสชาติดุเด็ดเผ็ดร้อนก็ได้ แต่ถ้าในวงข้าวมีเด็ก คนชรา หรือผู้ไม่นิยมรสจัด ก็จะมีผัดผักต่าง ๆ ปลาทอด หมูทอด เนื้อเค็มย่าง หรือ ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ตุ๋น ที่มีรสอ่อนลง เพื่อจะได้รับประทานกันได้

                เมื่อเสร็จจากการกินข้าวแล้ว การกินแบบไทยนั้น มักจะติดตามด้วยการกินของหวาน หรือขนมหวาน ซึ่งมักจะประกอบด้วยแป้ง ถั่ว น้ำตาล ไข่ และกะทิ หรืออาจจะมีงา หรือเครื่องปรุงอื่น ๆ เช่น ผลไม้บางอย่างประกอบอยู่ ในของหวานนั้น ๆ โดยมักจะพูดกันว่า กิน ของหวานล้างปาก ทั้งนี้ เพราะการกินข้าว อย่างไทยนั้น กับข้าวที่กินจะทำให้มีกลิ่นคาวติดปากจากเนื้อสัตว์และไขมัน และอาจจะมีกลิ่นเครื่องเทศ เครื่องปรุงต่าง ๆ ที่มีกลิ่นเป็นที่น่ารังเกียจได้ และอาจมีรสเผ็ด เปรี้ยว ติดลิ้นอยู่ คนไทยจึงต้องกินของหวานล้างปาก เพื่อดับกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ทั้งหลาย และคลายรสที่ยังติดลิ้นอยู่ และยิ่งกว่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าปากจะมีกลิ่นสะอาดยิ่งขึ้น เมื่อล้างปากด้วยของหวานหรือขนมแล้ว คนไทยยังนิยมกินผลไม้ ซึ่งมีอยู่นับร้อย ๆ ชนิด แปรเปลี่ยนกันไปให้เลือกนำมากินหลังอาหารได้ตลอดปี นอกจากผลไม้เหล่านี้จะมีรสชาติแสนวิเศษช่วยดับกลิ่นปากได้สนิทแล้ว ใยอาหารที่มีอยู่ในผลไม้ต่าง ๆ เช่น มะม่วงมัน สัปปะรด ชมพู่ ฝรั่ง มันแกว ยังช่วยขัดฟันได้เป็นอย่างดี นอกเหนือไปจากคุณค่าทางอาหาร เช่น วิตามิน เกลือแร่นานาชนิด และใยอาหารที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์เป็นอย่างยิ่ง

อาหารจานเดียวแบบไทยๆ

                   นอกจากการกินอาหารแบบไทยเป็นวงสำรับกับข้าว ซึ่งมีประเภทและชนิดอาหารที่หลากหลายแล้ว คนไทย ยังได้ดัดแปลงและพัฒนาอาหารประเภทอาหารจานเดียวที่แสนเอร็ดอร่อย และทรงคุณค่าทางโภชนาการขึ้นมาอีกมากมายให้เลือกกินตามความเหมาะสมแห่งยุคสมัยอีกด้วย อาหารจานเดียวเหล่านี้แพร่หลายไป ทั่วโลกเช่นกัน และแม้จะปรุงขายในต่างประเทศซึ่งเครื่องปรุงบางอย่างอาจจะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แต่คุณค่าทางโภชนาการโดยเฉพาะสารอาหารหลักๆ ก็ยังเหมาะสมและเป็นประโยชน์แก่สุขภาพของผู้บริโภคทุกคน ในที่นี้จะขอเสนอตัวอย่างอาหารจานเดียวที่แพร่หลาย พร้อมด้วยผลการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการจากสองแหล่งเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นตัวอย่างอาหารจานเดียว เช่น ผัดไทย ข้าวผัดหมูใส่ไข่ ส้มตำ ข้าวผัดใบกระเพราไก่ และยังนำตัวอย่างอาหารไทยที่เป็นที่รู้จักทั่วไปอีกบางรายการมาเสนอผลการวิเคราะห์คุณค่าทางอาหารด้วย ได้แก่ หมี่กรอบ ทอดมันปลา ต้มยำกุ้ง ต้มข่าไก่ เป็นต้น (ตารางที่ 1 และ 2) ซึ่งเมื่อรับประทานกับข้าวสวยแล้วก็จะเพิ่มคุณค่า และประโยชน์ต่อร่างกายยิ่งขึ้น

                 จากตัวอย่างผลการวิเคราะห์อาหารไทย ทั้งที่เป็นอาหารจานเดียวหรืออาหารที่รับประทานกับข้าว ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันทั่วไป จะเห็นว่ามีคุณค่าทางอาหารสูง และมีปริมาณไขมัน น้ำตาล และเกลือโซเดียม ค่อนข้างต่ำ รวมทั้งมีโปรตีนจากสัตว์ไม่มากจนเกินไป จึงมีประโยชน์และเหมาะสมต่อสุขภาพอย่างยิ่ง

กินอย่างไทย กินเพื่อสุขภาพ

                  ถึงตรงนี้คงเห็นได้แล้วว่า การกินอย่างไทยนั้นจะทำให้ได้สารอาหารที่มี คุณค่าต่อร่างกาย ให้พลังงานในสัดส่วนที่เหมาะสม ให้เกลือแร่ วิตามิน และ ใยอาหารอย่างเหลือเฟือที่จะช่วยให้ป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจตีบแข็ง โรคไขมันในเลือดสูง อัมพาต อัมพฤกษ์ โรคอ้วน เบาหวาน และมะเร็งในหลายอวัยวะ และยังได้สมุนไพรที่ช่วยในการย่อยอาหาร และการทำงานของระบบทางเดินอาหารที่ดี นอกเหนือไปจากรสชาติที่มีสีสันกลมกล่อม และหลากหลาย และยังเป็นวิธีการกินที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์หรือความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวเป็นอย่างดี ปลูกฝังความมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งปัน สุภาพอ่อนน้อม และรับผิดชอบต่อหน้าที่อันเป็นรากฐานการมีพฤติกรรมในครอบครัว และพฤติกรรมในสังคมอย่างเหมาะสม อีกด้วย

 

Others in this Category
document ภาคเหนือ
document ภาคกลาง
document ภาคอีสาน
document ภาคใต้
document ภาคอีสาน 2
document ภาคกลาง II
document ภาคเหนือ II
document ภาคใต้ II
document อาหารไทย: คุณค่าทางโภชนาการและประโยชน์เชิงสุขภาพ